คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะตอบสนองความต้องการของนักศึกษาด้านการดูแลสุขภาวะโดยเฉพาะปัญหาความเครียดและซึมเศร้าอย่างจริงจัง เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการของนักศึกษาอย่างแท้จริง ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงได้จัดโครงการดูแลสุขภาวะนักศึกษาขึ้นมา ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่บนหลักการพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษา ในขั้นตอนการเตรียมการเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติงาน จึงได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษารู้จักโครงการดูแลสุขภาวะนักศึกษา และเพื่อรับฟังความเห็นของนักศึกษาเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดทิศทางของโครงการดังกล่าว
โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการได้แก่ การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ (logo) ของโครงการ โดยผู้ชนะเลิศการประกวดได้แก่ คุณวรัญญา พยันตา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ชั้นปีที่ 3 (รางวัลชนะเลิศ) วันนี้เราจะไปพูดคุยกับคุณวรัญญา ถึงเหตุผลและแรงบันดาลใจในการออกแบบสัญลักษณ์ดังกล่าว
คำถาม (1) : เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการ
วรัญญา : “เราชอบดูงานวาด งานออกแบบพวกนี้อยู่แล้วค่ะ แต่แค่ชอบดูนะคะ ไม่เคยทำจริงจังมาก่อน พอได้เห็นทางโครงการเปิดรับสมัครออกแบบโลโก้ ก็สะกิดใจเรามากเลยค่ะ อยากลองออกแบบเองดูบ้าง ประกอบกับเป็นช่วงเรียนออนไลน์ ที่เราเรียนอยู่ในห้องอย่างเดียว ไม่ได้เจอเพื่อนเจอสังคมเหมือนปกติ ก็มีความรู้สึกเบื่อรู้สึกเครียด เลยอยากหาอะไรทำเพิ่มนอกจากแค่เรียนค่ะ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้
คำถาม (2) : แรงบันดาลใจในการออกแบบ
วรัญญา : “เราเข้าใจว่าจุดประสงค์หลักของโครงการคือการดูแลสุขภาวะของนักศึกษาโดยเฉพาะเรื่องความเครียดและซึมเศร้า และเราคิดว่าสำหรับคนที่ต้องพบเจอกับเรื่องเหล่านี้ก็อาจเป็นเรื่องยากสำหรับเขาในการที่จะเดินเข้ามาปรึกษากับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เลยคิดว่าถ้าโลโก้ดู friendly ดูสบาย ๆ คนที่ต้องการจะให้ทางโครงการช่วยดูแลปัญหานี้ให้นั้น เมื่อเขาได้เห็นโลโก้แล้วอย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้รู้สึกสบายใจและกล้าที่จะเข้ามาให้ทางโครงการดูแลค่ะ”
คำถาม (3) : ความหมายที่ต้องการสื่อ
วรัญญา : “หัวใจเล็ก ๆ ตรงกลางเราอยากสื่อแทนสุขภาวะและสภาพจิตใจของนักศึกษาค่ะ ส่วนดอกไม้ด้านบนรูปหัวใจ เปรียบเสมือนกับศีรษะของคนที่สื่อถึงความสดชื่น ความสบายใจ รวม ๆ แล้วจะมองออกเป็นรูปคนที่มีศีรษะเป็นดอกไม้และมองเห็นหัวใจ ก็คือตั้งใจให้แทนตัวของนักศึกษาที่มีความสดชื่น สดใส มีสุขภาวะและสภาพจิตใจที่ดีค่ะ”
“และในส่วนของตัวอักษร L เราวาดให้เป็นเส้นโค้งคล้ายประตูค่ะ เสมือนว่าทางโครงการพร้อมที่จะเปิดรับนักศึกษาที่มีปัญหาด้านสุขภาวะ ความเครียดหรือซึมเศร้าเข้ามาดูแลเสมอ หรืออีกนัยหนึ่งคือหากนักศึกษาเปิดประตูหรือเปิดใจเข้ามาให้ทางโครงการดูแล ก็จะทำให้เกิดความสบายใจแก่นักศึกษาได้ค่ะ”
“โดยรวมแล้วก็ต้องการจะสื่อว่าทางโครงการพร้อมที่จะดูแลนักศึกษา ให้นักศึกษามีสุขภาวะทางจิตที่ดีขึ้นค่ะ”
คำถาม (4) : อยากให้คณะนิติศาสตร์มีกิจกรรมอะไรในลักษณะเดียวกับกิจกรรมนี้อีกบ้าง
วรัญญา : “อยากให้มีค่ะ อาจเป็นกิจกรรมที่ใช้ทักษะอื่นที่ไม่ใช่ทักษะทางกฎหมาย เช่น การออกแบบโปสเตอร์ การวาดภาพประกอบ หรือการเสนอคอนเซ็ปต์กิจกรรม เป็นต้น คิดว่าน่าจะมีหลายคน ที่ไม่ได้ถนัดทักษะกฎหมาย แต่อยากมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของคณะฯ บ้าง หากคณะฯ จัดกิจกรรมลักษณะนี้ก็จะช่วยให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมอย่างหลากหลายขึ้นค่ะ”
ปัจจุบันคณะนิติศาสตร์ได้จัดตั้งศูนย์ Law TU Health & Wellness ขึ้น โดยมี อ.ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร เป็นผู้อำนวยการ สามารถติดตามรายละเอียดต่างๆ ของศูนย์ Law TU Health & Wellness ได้ที่ https://www.facebook.com/lawtuhealthwellness
ภาพ วรัญญา
เรียบเรียง KK