นักศึกษารหัส 59 ศูนย์ลำปางที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาบังคับชั้นปีที่ 3 ในภาค 2 ปีการศึกษา 2561 คนต่อไปที่เราจะไปพูดคุยด้วยได้แก่ชุติกาญจน์ ด้วงชะเอม (กาญจน์) ซึ่งสอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.351 กฎหมายปกครอง 2 กลุ่ม 1 บรรยายโดย ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ โดยได้ 90 คะแนน และวิชา น.390 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง บรรยายโดย ศ.ดร.จุมพต สายสุนทร ศ.ดร.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อ.ปทิตตา ไชยปาน สัมมนาโดยอ.ยศสุดา หร่ายเจริญ โดยได้ 91 คะแนน เราจะไปพูดคุยกับชุติกาญจน์เกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนทั้งสองวิชา
คำถาม (1.1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายปกครอง 2
ชุติกาญจน์ : “รู้สึกว่าวิชานี้เป็นหนึ่งในไม่กี่วิชาที่นักศึกษาศูนย์ลำปางมีโอกาสเลือกเซคได้ค่ะ เมื่อตอนเรียนวิชากฎหมายปกครอง 1 ได้มีโอกาสเรียนกับท่านอาจารย์จันทจิรา เอี่ยมมยุราและท่านอาจารย์นิรมัย พิศแข มั่นจิตรไปแล้ว ทำให้ตอนเลือกลงวิชากฎหมายปกครอง 2 นี้ต้องคิดหนักพอสมควรเลยค่ะว่าจะเลือกลงเซคที่มีอาจารย์ที่เราคุ้นเคยทั้งหมดหรือจะเลือกเซคที่มีอาจารย์บางท่านที่เราไม่เคยเรียนด้วยเลยมาก่อนดี เพราะถ้าเราเลือกเรียนกับอาจารย์ที่เขาสอนวิชากฎหมายปกครอง 1 เรามาก่อนเนื้อหาอาจมีความต่อเนื่องมากกว่าค่ะ เนื่องจากท่านอาจารย์จะทราบดีว่าได้วางพื้นฐานให้นักศึกษาไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว และควรต่อเนื้อหาช่วงไหนไปเชื่อมกับวิชากฎหมายปกครอง 2 ค่ะ แต่สุดท้ายหนูก็เลือกลงเซคที่มีอาจารย์ที่เราไม่เคยเรียนค่ะเพื่อความตื่นเต้นและแปลกใหม่น่าสนุกดีค่ะ”
คำถาม (1.2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ชุติกาญจน์ : “สำหรับวิชากฎหมายปกครอง 2 นี้ อาจารย์ผู้บรรยาย ได้แก่ ท่านอาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ ท่านอาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ และท่านอาจารย์กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ เท่าที่จำได้การสอนของท่านอาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ จะเน้นบรรยายไปตามหัวข้อที่ปรากฏในสไลด์ค่ะ ไม่มีการแจกชีทหรือเอกสารเพิ่มเติมนอกจากเค้าโครงรายวิชาค่ะ ทำให้ต้องเลคเชอร์เองค่ะ แต่อาจารย์อีกสองท่านมีชีทและเอกสารอื่น ๆ แจกให้ค่ะ”
คำถาม (2.1) : รู้สึกอย่างไรกับวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
ชุติกาญจน์ : “รู้สึกว่าชื่อวิชานี้เท่ดีค่ะ น่าสนใจและน่าท้าทายมากค่ะเพราะมีอาจารย์ผู้บรรยายหลายท่านเนื้อหาของวิชานี้น่าจะไม่ธรรมดาทำให้ดูรวม ๆ แล้วน่าสนุกมากค่ะ แต่อย่างไรก็ดีวิชานี้ไม่ได้มีโอกาสเลือกเซคค่ะ ทำให้หนูตื่นเต้นกว่าปกติเพราะมีอาจารย์หลายท่านที่หนูยังไม่เคยเรียนด้วยมาก่อน อีกทั้งยังมีอาจารย์ใจดีเพิ่มมาอีกท่านเพื่อช่วยสัมมนาให้นักศึกษาด้วยค่ะ”
คำถาม (2.2) : รูปแบบการสอนของอาจารย์ในกลุ่มที่เรียนเป็นอย่างไร
ชุติกาญจน์ : “สำหรับวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองนี้ อาจารย์ผู้บรรยาย ได้แก่ ท่านอาจารย์ จุมพต สายสุนทร ท่านอาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช และท่านอาจารย์ปทิตตา ไชยปาน อาจารย์ผู้สัมมนา ได้แก่ ท่านอาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญ”
“เท่าที่จำได้การสอนของท่านอาจารย์จุมพต สายสุนทรและท่านอาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช จะเน้นบรรยายโดยไม่มีการแจกชีทหรือเอกสารอื่นเพิ่มเติมนอกจากเค้าโครงรายวิชาค่ะ ทำให้ต้องเลคเชอร์เองค่ะ แต่ในส่วนของท่านอาจารย์ปทิตตา ไชยปานนอกจากจะมีการบรรยายแล้วยังมีการแจกชีทและเอกสารอื่น ๆ ให้ค่ะ นอกจากนี้ท่านอาจารย์ปทิตตา ไชยปาน ยังมีการเปิดวิดีโอข่าวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองให้นักศึกษาได้ชมเพื่อวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เรียนค่ะ และส่วนของท่านอาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญอาจารย์สัมมนา มีการบรรยาย มีชีทและเอกสารเพิ่มเติ่มแจกให้ค่ะนอกจากนี้ท่านได้จัดให้มีการทดลองทำข้อสอบ (mock exam) เพื่อช่วยให้นักศึกษาได้รู้ว่าควรอ่านเนื้อหาไหนเพิ่มเติมและเตรียมตัวก่อนสอบปลายภาคค่ะ”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ชุติกาญจน์ : “วิชาปกครอง 2 ไม่มีสัมมนาค่ะ แต่หากอนาคตจะมีการจัดสัมมนาให้รุ่นต่อ ๆ ไป หนูเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีค่ะเพราะการสัมมนาจะทำให้นักศึกษาได้ฝึกเขียนและวิเคราะห์สรุปเนื้อหาที่ได้เรียนมาไปในตัวทำให้เนื้อหาผ่านตาและผ่านหูมากขึ้นค่ะ”
“สำหรับวิชาคดีเมือง คิดว่าสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนอย่างมากค่ะ เพราะทำให้ได้ฝึกเขียนและได้คิดวิเคราะห์เนื้อหาที่เรียนบ่อยขึ้น และยิ่งในวิชานี้ที่อาจารย์ผู้สัมมนาได้มีการจัดนักศึกษาออกเป็นกลุ่ม ๆ ทำกิจกรรมในห้องเรียนโดยท่านอาจารย์ได้ตั้งประเด็นปัญหาและให้นักศึกษาตามกลุ่มช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทำให้นักศึกษาสนุกและตื่นเต้น ไม่เบื่อและไม่กล้านอนหลับหรือเล่นมือถือค่ะ”
คำถาม (4) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไรบ้าง และใช้เทคนิคในการเรียนและเตรียมตัวสอบอย่างไร
ชุติกาญจน์ : “สำหรับปกครอง 2 ข้อหนึ่งได้ 17 ข้อสองได้ 19 ข้อสามได้ 18 ข้อสี่ได้ 18 ข้อห้าได้ 18 รวม 90 ค่ะ”
“ส่วนคดีเมือง ข้อหนึ่งได้ 18 ข้อสองได้ 17 ข้อสามได้ 20 ข้อสี่ได้ 17 ข้อห้าได้ 19 รวม 91 ค่ะ”
“เทคนิคในการเตรียมตัวสอบทั้งสองวิชา คือ อิทธิบาท 4 ค่ะ อันดับแรกเราต้องมีฉันทะหรือความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น คือ เราต้องคิดว่าวิชานี้น่าสนุก น่าสนใจ น่าศึกษาก่อนค่ะ อันดับต่อมาเราต้องมีวิริยะ หรือความพากเพียรในสิ่งนั้น คือ เราต้องเข้าห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เนื้อหาที่เรียนต่อเนื่องหรือถ้าอ่านหนังสือเราต้องอ่านบ่อย ๆ ค่ะ อันดับที่สามเราต้องมีจิตตะหรือความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น คือ เราต้องมีสมาธิด้วยเวลาเรานั่งเรียนจิตเราต้องจดจ่ออยู่กับเนื้อหาที่ท่านอาจารย์บรรยายหรือตอนเราอ่านหนังสือจิตเราต้องจดจ่อกับเนื้อหาที่เราอ่านค่ะ และอันดับสุดท้ายที่เราต้องมีวิมังสาหรือความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น คือ เราต้องมีการวางแผนในการเรียนด้วยตนเองพยายามปรับปรุงจุดที่เราไม่เข้าใจและแก้ไขให้ได้ว่าทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจค่ะ”
คำถาม (5) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
ชุติกาญจน์ : “สองวิชานี้ไม่มีการสอบกลางภาคค่ะ แต่ความรู้สึกส่วนตัวต่อการสอบกลางภาค คือ การสอบกลางภาคจะช่วยลดความเครียดให้นักศึกษาได้ในระดับหนึ่งค่ะเพราะเนื้อหาส่วนที่ได้ออกไปแล้วมักจะไม่ออกซ้ำตอนปลายภาค นักศึกษาที่มีภาระในการสอบวิชาอื่น ๆ ด้วยจะคลายความกังวลในเนื้อหาลงค่ะ แต่ต้องแลกมาด้วยการเตรียมตัวสอบกลางภาคค่ะทำให้ต้องอ่านหนังสืออยู่ตลอดทั้งเทอมแทน ซึ่งปกติส่วนตัวแล้วหนูจะไม่อ่านตลอดทั้งเทอมขนาดนั้นค่ะเพราะจะเครียดเกินไปหนูจะสบาย ๆ ในช่วงต้นเทอมก่อนแล้วค่อย ๆ สรุปเก็บเนื้อหาทั้งหมดประมาณหนึ่งเดือนก่อนสอบค่ะ”
คำถาม (6) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาสองวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
ชุติกาญจน์ : “พยายามทำตัวสบาย ๆ อย่างเครียดมากค่ะ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง นอนหลับให้เต็มอิ่มอย่าอดหลับอดนอนอ่านหนังสือ เพราะถ้าเราไม่มีการสอบกลางภาคแปลว่าช่วงเวลาที่เรามีโอกาสทำคะแนนสำหรับเนื้อหาที่เราตั้งใจเรียนมาทั้งเทอมมีแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้นค่ะ การฝึกเขียนจะทำให้สมองเราคิดวิเคราะห์เรื่องนั้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้เร็วสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีในกรณีที่สิ่งที่อาจารย์ถามไม่รู้แต่สิ่งที่หนูรู้มีดังนี้ค่ะ และสิ่งที่หนูรู้บางเรื่องมันก็อาจไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่โจทย์ถามก็ได้ค่ะ แต่ระวังถ้ามันไม่เชื่อมโยงก็ค่อย ๆ ตั้งสติและค่อย ๆ หาสิ่งที่รู้ค่ะ นอกจากนี้การเข้าฟังบรรยายบ่อย ๆ จะช่วยให้เราซึมซับคำศัพท์ทางกฎหมายซึ่งสามารถนำไปเขียนตอบได้ดีค่ะ”
ถ่ายภาพ ST
แต่งภาพ ST
เรียบเรียง KK